ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข @ CIVIL ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างยุคใหม่ ด้วยแนวทาง Green Construction

5-6 ธันวาคม 2564…แม้จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างการเติบโตให้กับ GDP ของประเทศแต่ละปีค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมก่อสร้างก็ยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อว่าสร้างขยะและก่อมลภาวะให้กับโลกเป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโดยตรงจึงต้องเปลี่ยนแปลงเร่งด่วน

 

บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในธุรกิจก่อสร้างที่อยู่มานานกว่า 50 ปี มีโครงการกว่า 1,000 โครงการ มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆโครงการที่ภาคภูมิใจ คือ โครงการในพระราชดาริ

 

ประสบการณ์ที่ยาวนานทำให้ซีวิลไม่ใช่แค่เพียงผู้รับเหมา แต่เป็นนักบริหารโครงการที่มีแนวคิดทันสมัย บริหารด้วยความโปร่งใส และนำนวัตกรรม งานก่อสร้างมาผนวกกับแนวคิดคนรุ่นใหม่มาใช้เพื่อให้เกิดยั่งยืนแก่องค์กรทั้งปัจจุบันและอนาคต

 

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL และ เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่เติบโตขึ้นมาสานต่อธุรกิจด้วยแนวคิดแบบคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

“ก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก โตถึง 8-9% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งในซัพพลายเชนทั้งหมดประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการก่อสร้าง ซัพพลายเออร์ ทั้งที่เป็นวัสดุก่อสร้าง ไอที โลจิกติกส์ มุมมองของเราในฐานะของผู้บริหารบริษัทก่อสร้างและเลขาสมาคมฯ ผมมองว่าเราเองต้องรับผิดชอบ และต้องเติบโตไปพร้อมกับโลกใบนี้ ทำอย่างไรที่เราจะส่งต่อโลกใบนี้ให้คนรุ่นต่อไปได้อย่างดีที่สุด รับผิดชอบที่สุด”

อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทั้งพลังงาน สร้าง Carbon Emission ก๊าซเรือนกระจก แม้กระทั่งเรื่องของขยะ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยแต่กิดขึ้นทั่วโลก เป็นโจทย์ที่ทั่วโลกทั้งเอกชน ภาครัฐ ต้องร่วมกันแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง และยาว”

 

 Civil โครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง

 

หากมองลึกเข้าไปใน Supply chain ของอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่หลากหลาย ดังนั้น ปิยะดิษฐ์ จึงมองว่าการจะทำให้เรื่องของ Green Construction เกิดขึ้นไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นหน้าที่ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

 

“ถ้าเรามองที่ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมนี้เราก็ต้องมอง Life Cycle ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับใครบ้าง Life Cycle ที่พูดถึงก็คือเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มโครงการที่ต้องมี Developer จากนั้นมีส่วนของการออกแบบซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งสถาปนิก และวิศวกร ระหว่างทางจะมีเรื่องของการอนุญาต ซึ่งภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนของภูมิภาคมีส่วนรับผิดชอบ รวมถึงการก่อสร้างที่ทั้งผู้ประกอบการ งานเทรดต่าง ๆ ซัพพลายเออร์ และโลจิสติกส์เป็นต้น มันมีความเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มต่าง ๆ ค่อนข้างมากในมุมของผมเองมองว่า ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่งมันเป็นความร่วมมือที่ต้องมองไกล”

เพราะฉะนั้น กระบวนการจัดการซึ่งภาครัฐซึ่งมีเรื่องของ EIA และ EHIA ถือเป็นโรดแมพที่ทำให้เห็นว่าตั้งแต่ต้นโครงการ ผู้ประกอบการต้องดำเนินการอย่างไรจนขั้นตอนการก่อสร้างและส่งมอบและเปิดใช้งาน สิ่งสำคัญคือการที่ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ต้นว่าจะบริหารจัดการอย่างไรกับโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ปิยะดิษฐ์เสริมอีกว่าความท้าทายของการปรับตัวไปสู่ Green Construction ก็คือนโยบายของภาครัฐต้องสามารถดำเนินการได้จริงและต้องเป็นคนนำให้เรื่องเหล่านี้เกิด

 

“นโยบายภาครัฐที่สามารถเป็นไปได้จริง และมีการนำเอาคนที่อยู่ใน Value Chain มาพูดคุยกันมีการส่งเสริมและมี Incentive มิฉะนั้น เอกชนก็จะมานั่งมองหน้ากันแล้วเกี่ยงว่าใครจะเป็นคนเริ่ม ถ้าภาครัฐเป็นผู้ริเริ่ม พวกเราในฐานะของสมาคมก็สามารถที่จะเดินตามได้ สุดท้ายภาครัฐก็ต้อง Endorse เพื่อทำให้การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้จริง”

นับเป็นความท้าทาย อีกเรื่องคือการมองกระบวนการให้เป็นองค์รวม ต้องมองตั้งแต่ต้นถึงตอนท้าย ไม่ใช่มองเพียงเรื่องก่อสร้างอย่างเดียว แต่ต้องมองด้วยว่าเจ้าของโครงการคิดอะไร ส่งเสริมอะไร แล้วระหว่างทางเองกฎหมายที่เกี่ยวข้องคืออะไร การมีส่วนร่วมของ Stakeholder ทั้งหมดในการวางบลูพริ้นต์ต้องมองให้ครบเพื่อจะได้คิดให้ถูกว่าจะต้องทำอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็มีการขยับหลาย ๆ ส่วนยกตัวอย่างเช่น BOI มีการส่งเสริมเรื่องของการลงทุนเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร การลงทุนเรื่องการทำ R&D แล้วทำให้มี Energy Efficient มากขึ้นหรือทำให้มี Green มากขึ้นนับเป็นเรื่องที่ดี

 

“แต่เท่าที่ดูยังไม่เห็นคำว่า Construction ในสิ่งที่ส่งเสริมเท่าไหร่นั้น ซึ่งผมมองว่าเศรษฐกิจแบบนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ ถ้ามีการส่งเสริมและใส่พวกเราเข้าไปในสมการด้วยเราก็พร้อมที่จะเป็นคนช่วยคิด ช่วยทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศเดินหน้าไปในทิศทางที่ดี ถูกต้อง และรับผิดชอบมากขึ้น”

 

Civil โครงการ สนามบินระนอง

 

ในฐานะที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ‘ไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ’ ประจำปี 2021 (Eisenhower Fellowships) ปิยะดิษฐ์ เล่าให้ฟังว่าการได้ไปเห็นกระบวนการคิด การทำงาน เครือข่ายต่างๆที่เกิดขึ้นถือเป็นการเปิดโลกและทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่กำลังคิดเกี่ยวกับการขับเคลื่อนให้เกิด Green Construction ไม่ได้ทำอย่างโดดเดี่ยวแต่มีคนซึ่งมี Mindset เดียวกันร่วมกันคิดและทำเพื่อให้โลกนี้ดียิ่งขึ้น

 

มี 3 คำ ที่เชื่อว่าคนของไอเซนฮาวร์สามารถทำให้เกิดได้คือ

 

-Peaceful สงบสุข

-Prosperous ทำให้มีความมั่งคั่งให้มีความเจริญงอกงาม

-Judge คือความยุติธรรม

“ตั้งแต่กระบวนการสมัครเข้าโครงการ ทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเองด้วย เพราะคำถามบางคำถามทำให้เราได้ฉุกคิด และทำให้เราได้เขย่าประเด็นเห็นความชัดเจนถึงสิ่งที่เรากำลังจะไปถึง เมื่อได้รับเลือกธีมที่เราคิดไว้คือ เราจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็น 8-9% ของ GDP มัน Sustainable Transparent และ Efficient ซึ่งในหลายมุมที่เราไปเจอ เราได้ไปเจอกับผู้บริหารของประเทศ CEO บริษัทใหญ่ ท่านทูต สตาร์ตอัพ อาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้เรายังได้ไปโฟกัสในบางพื้นที่ ทำให้เราเห็นว่าอเมริกามีอีกหลายเมืองที่เขาพยายามดิ้นรนที่จะเติบโต เช่น เมืองอย่างนอร์ธ แคโรไลน่าเมืองเล็ก ๆ แต่เขาจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนซึ่งมีศักยภาพอยู่ในเมืองได้เพื่อกลับมาพัฒนา GDP ของเมือง ดังนั้นเขาจึงมีกระบวนการ มีโปรแกรมต่าง ๆ ที่ช่วยกันคิด มีมหาลัยดัง ๆ ตั้ง Triangle Research ซึ่งหลังจากนั้นมันเกิด Think Tank ที่ดี ภาครัฐสนับสนุน เอกชนเดินตามทำให้หลายๆอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลง เราไปเห็นกระบวนการเหล่านี้ซึ่งมันมีคุณค่ามาก”

นอกจากนี้ยังไปเจอกับคนที่ช่างคิด ช่างฝัน ช่างทำคล้าย ๆ กัน คนเหล่านี้เป็นหนึ่งในคนที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง มี Mindset ที่ต้องการทำให้โลกนี้ Peaceful สงบสุข สองคือ Prosperous ให้มีความมั่งคั่งให้มีความเจริญงอกงาม และ Judge คือความยุติธรรม ซึ่งพอไปเจอคนที่คิดคล้ายๆกันก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่โดดเดี่ยวและพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือกันจริง ๆ ซึ่งมันเป็นการย้ำเตือนว่าเราไม่ได้คิดคนเดียวและมั่นใจในสิ่งที่เราทำ

 

ปิยะดิษฐ์ มองว่า ซีวิลเอนจีเนียริง มีจุดเด่นตรงที่สามารถต่อยอดความฝันจากรุ่นพ่อไปสู่คนรุ่นใหม่ได้ในแบบที่เป็นเวอร์ชั่นของตนเอง การเข้าร่วมโครงการ ‘ไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ’ ประจำปี 2021 ยิ่งทำให้วิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจกว้างและไกลออกไปอีกมาก ทั้งในเรื่องของการนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ การคิดเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะประสบความสำเร็จได้การเตรียมตัวเป็นเรื่องสำคัญ

 

“เราเชื่อว่าถ้าเราเตรียมตัวได้ดีทั้งเรื่องความคิด ทั้งในเชิงรายละเอียด รวมถึงการเข้าตลาดก็เป็นส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้เรามีความพร้อมที่จะมีการควบคุมภายในที่ดี มีความพร้อมเรื่องของการเงิน มีต้นทุนการทำงานที่ถูกลง เราสามารถหาพาร์ทเนอร์ชิพได้ ผมก็เชื่อว่าอนาคตน่าจะมีพาร์ทเนอร์ชิพที่ดีในหลายมุมรวม”

ที่ ไอเซนฮาวร์ นอกจากความรู้ ประสบการณ์และแรงบันดาลใจแล้วมันคือโอกาสที่ได้เตรียมตัว และน่าจะทำอะไรหลายอย่างได้ ที่สำคัญคือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม อย่างที่ได้ไปเจอก็เห็นว่ามีเรื่องดาต้า เอไอ แมชชีน เลิร์นนิ่ง ดีพเทค 3D printing โรโบติก ซึ่งมองเห็นทางว่าเราจะลงทุนในเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้กับบริษัทแบบใด จากนี้ไปมันทำให้เห็นว่าโลกนี้มีคอนเน็คชั่น มีองค์ความรู้

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตั้งใจทำตั้งแต่ต้นคือทำบริษัทให้ดี รับผิดชอบและเติบโต ทำประโยชน์ในโลกได้ก็เป็นเรื่องดี ไอเซนฮาวร์ทำให้มีมุมมองที่กว้างมากขึ้น วันนี้โลกมันเปลี่ยน มุมปิยะศักดิ์มองว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องของเจนเนอเรชั่นแล้ว แต่มันเกี่ยวกับมุมมองและความรู้สึกตื่นตัวกับสิ่งที่เราอยากจะปรับเพียงใด ทำแค่ไหน เรียนรู้ใช้เวลากับมันแล้วเทคแอกชั่นได้มากน้อยเพียงใด จุดนี้มันทำให้รู้สึกว่าต้องตื่นตัว

 

Civil โครงการก่อสร้างทางพิเศษระหว่างเมือง

 

วันนี้ ซีวิลเอนจีเนียริง นอกจากการอยู่ในอุตสาหกรรมมานาน ได้งานระดับชาติมานับไม่ถ้วน เติบโตได้แม้เกิดวิกฤติอย่างโควิด-19 และจะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนซึ่ง ปิยะดิษฐ์ ให้ทัศนะว่านั่นเกิดจากการที่องค์กรตั้งใจเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของคน และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน

 

“เราเชื่ออย่างชัดเจนว่าเราเป็นบริษัทที่ทำก่อสร้าง และใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ซึ่งเทคโนโลยีไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เรารวยขึ้นแต่หมายถึงทำให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น เรามีประสิทธิภาพและสามารถตอบโจทย์ได้มากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องปรับปรุงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เรามีความสมบูรณ์ พร้อมเติบโตไปกับประเทศโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการปรับตัวมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีในการก่อสร้างหรือกระบวนการทำงานภายในโดยใช้ข้อมูลต่าง ๆ ”

ปิยะดิษฐ์ กล่าวในท้ายที่สุด ในฐานะของรุ่นที่ 3 การปรับการทำงานจากรุ่นพ่อสิ่งสำคัญคือเรื่องของการหา Passion ในการทำงานของตัวเองเพื่อเป็นเข็มทิศนำทางการทำงานไปในเป้าหมายที่ตนเองต้องการ

 

“ในการทำงานของเรา ถ้าเรามองเห็นว่า Passion ของเราคืออะไรซึ่งสำหรับผมคือการผูกโยงความสำเร็จของตัวเอง ของบริษัทและประเทศโดยนำเรื่องของเทคโนโลยีมาใช้สร้างการเติบโตทั้งแก่บริษัทและส่วนตัวก็ยังมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วยที่เรามองว่าเราต้องมีส่วนในการรับผิดชอบทั้งในของผู้นำและในฐานะของความเป็นมนุษย์เราคิดว่าสิ่งนี้จำเป็น เป็นหน้าที่ซึ่งเราต้องเดินหน้าเติบโตไปพร้อมกับความรับผิดชอบ”

แหล่งที่มา : sdperspectives


ย้อนกลับ