ผู้นำนักคิด สร้างความยั่งยืนองค์กรและอุตสาหกรรม

ระบบเราต้องนิ่ง วิธีการทำงานต้องชัดเจน เราต้องมีการเทรนนิ่งและที่สำคัญคือการสื่อสารต้องดี และต้องให้ใจกับพนักงาน

ก่อนหน้านี้ ชื่อของ “บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด” อาจจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก ในฐานะบริษัทรับเหมาไทยขนาดกลาง แต่เมื่อสามารถเข้ามาคว้าเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุนกว่า 179,412 ล้านบาท ไปได้ บริษัทนี้จึงเป็นที่น่าจับตามากขึ้นหากกลับไปดูประวัติ ซีวิล มีประสบการณ์โชกโชนในงานก่อสร้างโยธามากว่า 50 ปี เคยผ่านงานก่อสร้างโครงการระดับใหญ่จนถึงภูมิภาค โดยหัวเรือใหญ่ผู้นำทัพก็คือ “คุณชาย - ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีวิล

“ปิยะดิษฐ์” เล่าว่า เขาเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านเมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยช่วงนั้นครอบครัวมีหนี้สินหลายร้อยล้าน จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 เขาต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะจัดการเรื่องหนี้สำเร็จ ในขณะที่คุณพ่อก็ต้องมาจากไปแบบกะทันหัน แต่ในที่สุดก็สามารถดำเนินธุรกิจรอดพ้นวิกฤติมาได้ ด้วยความจริงใจและซื่อสัตย์ผลงานที่ผ่านมามีทั้ง สะพานข้ามแยกรัชวิภา ทางยกระดับบรมราชชนนี โครงการพระราชดำริต่างๆ งานก่อสร้างสนามบิน ทางเชื่อมพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-สระบุรี-โคราช และงานก่อสร้างอื่นๆ อีกกว่า 1,000 โครงการ มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง - มหาชัย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภูมิภาค (ไทย-จีน) ที่กำลังดำเนินการอยู่

ผู้บริหารหนุ่มวัย 42 คนนี้บอกว่า เขาไม่ต้องการเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือองค์กรชั้นนำ เขาต้องการเป็นองค์กรขนาดกลาง ที่สามารถซัพพอร์ตและเป็นพันธมิตรให้กับพี่บิ๊กในวงการงานก่อสร้างโยธา และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)ความยั่งยืน (Sustainability)ในที่นี้ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่สุดแล้ว ก็จะย้อนกลับมาที่องค์กร ที่ต้องมีรายได้เลี้ยงดูพนักงาน และมีการเติบโต ซึ่งที่ผ่านมา ซีวิลฯ สามารถเติบโตได้ปีละ 10-20% ต่อเนื่อง รวมถึงในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกรวมถึงไทย ที่ประสบกับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ เพราะพิษของการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)การบริหารธุรกิจให้เติบโตท่ามกลางวิกฤติ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี “ปิยะดิษฐ์” บอกว่า มันมีความท้าทายหลายอย่าง แต่ทั้งหมด ก็อยู่ที่ความสามารถในการปรับตัว ซึ่งองค์กรและพนักงานต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กันในขณะที่ผู้นำ ก็ต้องบริหารจัดการวางระบบให้นิ่งกำหนดวิธีการให้ชัดเจน มีการเทรนนิ่งพนักงานให้มีทักษะพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้าพร้อมกับองค์กร และต้องมีการสื่อสารที่ดี

“ไม่ต้องพูดอะไรให้ยาก ไม่ต้องวิชาการ และต้องดูเรื่องของความรู้สึก ต้องให้ใจกับพนักงาน ผู้บริหารสมัยใหม่ต้องมีความจริงใจ”

“ปิยะดิษฐ์” บอกว่า องค์กรของเขามี ค่านิยมองค์กร (Core Value) ที่แข็งแกร่ง ที่หล่อหลอมให้พนักงานของซีวิลฯ เป็นคนที่สามารถปรับตัวและสร้างผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ Committed ความมุ่งมั่นที่คัดกรองมาจากสิ่งที่รุ่นพ่อรุ่นปู่ทำมา พูดและทำต้องมีสัจจะ Integrity ความถูกต้อง Value People การให้ความสำคัญกับคน ทั้งพนักงานและบุคคลภายนอก Innovation เรื่องของนวัตกรรม ที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีแต่หมายถึงวิธีการการกระทำที่ทำให้องค์กรดีขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์ และ Learning การเรียนรู้ ทุกคนต้องเปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาค่านิยมที่สร้างขึ้นไม่เพียงหล่อหลอมพนักงานแต่ยังเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างซีอีโอท่านนี้ ปฏิบัติเป็นกิจวัตรของตัวเองอยู่แล้ว ล่าสุดเขายังได้รับคัดเลือกให้เป็น “ไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ” ในฐานะผู้นำยุคใหม่ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี จากมูลนิธิประธานาธิบดี ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีคนจากหลากหลายวงการจำนวน 22 คนมาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องปัญหาต่างๆ กับผู้นำสหรัฐอเมริกา พร้อมกับ ไอเซนฮาวร์ เฟลโลว์ชิพ ท่านอื่นๆ เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์

“ผมถือว่า เป็นโอกาสในการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ ที่เราสามารถนำมาต่อยอด ส่งต่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นๆ รวมถึงในแวดวงอุตสาหกรรมการก่อสร้างโยธาด้วย”

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจอีกมากมายทั้งด้านการเรียนรู้ และเรื่องทางสังคม รวมทั้งการนำไลฟ์สไตล์ส่วนตัวมาสร้างให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยรวม เรียกได้ว่า เป็นผู้นำนักพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในอนาคต (Sustainable Development) ตัวจริงเลยทีเดียว

ที่มา thansettakij


ย้อนกลับ